เกี่ยวกับฉัน

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บทความทางวิชาการเรื่อง การศึกษากับการพัฒนาประเทศ

บทความทางวิชาการเรื่อง การศึกษากับการพัฒนาประเทศ




บทบาททางกาศึกษาที่มีต่อการพัฒนาประเทศนั้น เป็นที่ตระหนักและยอมรับกันทั่วไปสำหรับสภาพการณ์ปัจจุบันและอนาคต การศึกษาเป็นปัจจัยหลักในการโน้มนำประเทศไปในแนวทางที่พึงประสงค์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศิลปวัฒนธรรม

จากข้อความนี้ แสดงถึงการยอมรับความสำคัญของการศึกษาต่อการพัฒนา เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนามนุษย์ให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ที่เรียกว่า ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources) และทรัพยากรมนุษย์นี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งมีการพัฒนารวดเร็วและมากน้อยเพียงใด บทบาทของการศึกษาในการพัฒนามนุษย์ในลักษณะนี้มาก จนอาจกล่าวได้ว่า การศึกษากับการพัฒนาประเทศเป็นของคู่กัน เป็นสิ่งที่ต้องมีควบคู่อยู่เสมอ

ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การศึกษาเป็นการพัฒนาคนและทรัพยากรมนุษย์ของแต่ละสังคมหรือประเทศโดยตรง กล่าวคือ การศึกษาได้ทำหน้าที่แปรสภาพคนตั้งแต่เริ่มเกิดไปสู่สภาพพลเมืองดี แล้วปรับแต่งให้เข้าสู่สภาพการเป็นกำลังคน (Manpower) ตามความต้องการของงานในสาขาต่างๆ ระบบการศึกษายังทำหน้าที่ในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณลักษณะตามความต้องการของสังคม กล่าวอีกอย่างหนึ่ง การศึกษามีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในด้านต่างๆ

ความหมายของการศึกษาจำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ

1. การศึกษาในความหมายที่กว้างหมายถึงอิทธิพลทุกอย่างที่มีต่อชีวิต บุคลิกภาพและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ที่ถูกกำหนดด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ครอบครัว สังคม ศาสนา ระบบการปกครอง สื่อมวลชนและดินฟ้าอากาศ เป็นต้น การศึกษาในลักษณะนี้ไม่มีสิ้นสุดเริ่มตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นการศึกษาจากประสบการณ์ทั้งหมดของชีวิต การศึกษาจึงมีได้อยู่แต่ในโรงเรียนเท่านั้น

2. การศึกษาในความหมายที่แคบหมายถึง กระบวนการที่สังคมถ่ายทอดวัฒนธรรม ความรู้ ความชำนาญ ค่านิยมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยผ่านโรงเรียนหรือสถาบันทางสังคมอื่นๆ เป็นการถ่ายทอดอย่างจงใจ มีการเลือกสรรว่าจะถ่ายทอดอะไร มีการกำหนดแนวทาง มีการจัดตั้งระบบเป็นกิจลักษณะ การศึกษาในลักษณะนี้เป็นภารกิจของสังคมที่จะปั้นให้เด็กเป็นไปตามความต้องการของสังคม



หน้าที่ของการศึกษา

โดยทั่วไปแล้วการศึกษาทำหน้าที่สำคัญ 2 อย่างควบคู่กันไป กล่าวคือ หน้าที่เชิงอนุรักษ์ (Conservative Function) เป็นหน้าที่ที่ต้องทำนุบำรุง รักษา ถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคม เพื่อรักษาเสถียรภาพของสังคมไว้ โดยมีการถ่ายทอดความรู้ ความเชื่อ ค่านิยม แบบแผนแห่งพฤติกรรมจากรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ส่วนอีกหน้าที่หนึ่งคือ หน้าที่เชิงสร้างสรรค์ (Innovative Function) ในกรณีนี้การศึกษาทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะทำให้สังคมก้าวหน้าตลอดเวลา ตลอดจนทำหน้าที่เผยแพร่นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ

หากจะกล่าวเฉพาะบทบาทและหน้าที่ของการศึกษาที่มีส่วนสัมพันธ์ต่อการพัฒนาบุคคล ต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติแล้ว อาจแบ่งหน้าที่ของการศึกษาได้ดังนี้

1. พัฒนาความรู้และสติปัญญาของพลเมืองโดยส่วนรวมให้เป็นผู้ที่มีความสามารถสูงยิ่งขึ้น

2. ช่วยให้คนสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

3. เตรียมพลเมืองดี (Good Citizen) ให้แก่สังคมอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

4. ช่วยให้บุคคลมีความสามารถในการประกอบอาชีพ เพื่อดำรงตนอยู่ในสงคมได้อย่างมีความสุข

5. ช่วยเตรียมกำลังคนให้สอดคล้องกับงานในสาขาต่างๆ ตามที่สังคมและประเทศชาติต้องการ

6. ถ่ายทอดผลิตผลทางปัญญา ประสบการณ์ ตลอดจนมรดกทางปัญญาและทางวัฒนธรรมสู่คนรุ่นใหม่

7. ปลูกฝังความคิด ความเชื่อ ค่านิยมและอุดมการณ์ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม ตามความประสงค์ของสังคมนั้นๆ

8. สร้างกลุ่มพลังทางการเมือง ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการคัดสรรชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองของประเทศ

9. เป็นสื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกของแต่ละสังคมแต่ละประเทศ เช่น โครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เป็นต้น

จากภาระหน้าที่ของการศึกษาที่ได้กล่าวมานี้ ช่วยให้เห็นลู่ทางในการกำหนดลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาและการพัฒนาได้สะดวกยิ่งขึ้น

บทบาทของการศึกษาในการพัฒนา

ในช่วงระยะทศวรรษ 1950 นักเศรษฐศาสตร์เชื่อกันว่าการศึกษาเป็นองค์ประกอบอันสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เนื่องจากได้มีผู้ศึกษาการลงทุนเปรียบเทียบแสดงให้เห็นว่าบางประเทศได้รับผลตอบแทนสูง บางประเทศได้รับผลตอบแทนไม่สูงนัก และเมื่อนำรายละเอียดมาเปรียบเทียบกัน นักเศรษฐศาสตร์สรุปได้ว่า องค์ประกอบของการพัฒนาที่ทำให้เกิดผลตอบแทนต่างกันคือ พื้นฐานทางการศึกษาของประชาชนในประเทศนั้น จึงเชื่อว่าการพัฒนาการศึกษาเป็นการพัฒนาที่ให้ผลตอบแทนสูง ด้วยเหตุนี้ในช่วงเวลานั้น การศึกษาจึงถูกจัดให้เป็นสินค้าเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งหมายถึงว่าต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างทุนมนุษย์ หรือกำลังคนอันเป็นหัวใจสำคัญของความเจริญก้าวหน้า หน้าที่สำคัญของระบบการศึกษาก็คือการสร้างคนให้มีความรู้ทักษะและทัศนคติที่จะช่วยให้อัตราการเจริญเติบโดโดยส่วนรวมสูงขึ้น ส่วนผลกระทบอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจจะเป็นเป้าหมายรองลงไป

จึงกล่าวได้ว่า การศึกษาสามารถทำให้การพัฒนาสำเร็จตามเป้าหมายได้แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเปลี่ยนจุดมุ่งหมายและวิธีการจัด กล่าวโดยสรุปก็คือ การศึกษาเพื่อการพัฒนานั้นต้องมุ่งที่จะให้ความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่จำเป็นต่อความต้องการที่แท้จริงของชาวชนบทผู้ยากไร้ และต้องเป็นการศึกษาที่สมาชิกสังคมสามารถจะเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เมื่อ ยูเนสโกได้พิมพ์หนังสือเรื่อง “เลิร์นนิง ทุ บี” (Learning to be) ในปี ค.ศ.1972 แนวคิดที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การศึกษาของคนจะหยุดนิ่งไม่ได้ เมื่อจบการศึกษาจากระบบโรงเรียนแล้ว จะต้องศึกษาต่อไปตลอดชีวิต เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและรวดเร็วยิ่งขึ้น แนวคิดการศึกษาตลอดชีวิต (Life-long Education) ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบการศึกษานอกโรงเรียนขึ้นเพื่อให้คนที่พ้นวันเรียนแล้ว ได้มีโอกาสใช้การศึกษานอกโรงเรียนแทนการเรียนในโรงเรียน แนวความคิดนี้จึงมีคนขานรับกันทั่วโลก

เท่าที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือส่งเสริมส่วนอื่นๆ ของระบบสังคม นั้นคือการศึกษาอาจถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม หรือตอบสนองนโยบายบางอย่างของรัฐบาลได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในฐานะที่ท่านเป็นผู้หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาถ้าท่านยังคงเห็นว่าการศึกษาคือธุรกิจ เป็นการหากำไรจากผู้ที่ต้องการศึกษา แล้วจะยังผลให้พัฒนาประเทศชาติไปได้อย่างไร เพราะการศึกษาเป็นการทำเพื่อธุรกิจแขนงหนึ่งเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: